Game online สร างบ าน สร างฟาร ม

เผยแพร่: 8 ก.ย. 2560 11:14 ปรับปรุง: 8 ก.ย. 2560 12:57 โดย: MGR Online

คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอนุมัติงบประมาณปี 2561 จำนวน 8,445 ล้านบาท ขับเคลื่อนงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เช่น การลดใช้พลังงานในโรงงาน-อาคารขนาดใหญ่ และภาคการขนส่ง การติดฉลากประหยัดพลังงานในอาคาร-บ้านพักอาศัย และฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน

การประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุม ได้มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และศึกษาวิจัยพัฒนาด้านพลังงาน ช่วงเดือนตุลาคม 2560-กันยายน 2561 วงเงินรวม 8,445 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้ 8,435 ล้านบาทต่อปี

นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า งบประมาณปี 2561 มีการสนับสนุนงานทั้งด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยในส่วนของการอนุรักษ์พลังงาน มุ่งเป้าให้มีการลดใช้พลังงานในกลุ่มโรงงานและอาคารควบคุมซึ่งมีการใช้พลังงานสูง จำนวนกว่า 7,000 แห่ง โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบ Internet of Thing ร่วมกับอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพื่อรายงานผลออนไลน์กลับมายังส่วนกลาง พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานอาคารควบคุม (Energy Building Code : BEC) เพื่อให้อาคารใหม่ที่จะสร้างในอนาคตปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

รวมทั้งจะมีการติดฉลากอาคารธุรกิจที่ใช้งานในปัจจุบันจำนวน 150 แห่ง และจัดทำฉลากมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัย เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกอาคาร-บ้านประหยัดพลังงานให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในส่วนของฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงานจะมีการติดฉลากรวม 16 รายการ เช่น เตาแก๊ส กระจก อุปกรณ์ความเร็วรอบมอเตอร์ สีทาบ้าน เป็นต้น พร้อมกับทบทวนมาตรฐานฉลากเก่าและศึกษามาตรฐานของอุปกรณ์ใหม่อีกด้วย

ส่วนมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญ ได้จัดทำโครงการสำหรับเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งโรงงาน อาคารขนาดใหญ่ และ SMEs ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนด้วยวิธีอุดหนุนผลประหยัด (DSM Bidding) การจัดการพลังงานในระบบอากาศอัดด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่มีการใช้พลังงานสูงและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทางกองทุนฯ จึงได้จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงในโรงพยาบาลของรัฐทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กด้วย

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง ในการพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อการประหยัดพลังงาน ไม่น้อยกว่า 5,000 คน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งสินค้า และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของเจ้าของกิจการด้วย รวมถึงการสนับสนุนนโยบายประชารัฐ ในการสร้างต้นแบบเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) จำนวน 20 แห่ง โดยสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยใช้เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ร่วมกับการใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม

สำหรับด้านพลังงานทดแทน ที่ประชุมฯ ได้สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า สำหรับใช้ในพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมกันนี้ได้เตรียมสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาใช้ในกลุ่มบ้านพักอาศัย อาคาร โรงงาน และหน่วยงานราชการ โดยตั้งเป้านำพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 7.7 เมกะวัตต์